สนามมวยทุ่งศรีเมือง

สนามมวยทุ่งศรีเมือง
          เมื่อก่อนนี้อุบลราชธานียังไม่มีสนามมวยเป็นเอกเทศต้องจัดชกมวยตามโรงมหรสพ เช่น “ โรงหนังเหนือ ” อยู่ในซอยอุบลกิจ แถวอุบลโฮเตลโรงแรมเก้าชั้นปัจจุบัน “ โรงหนังกลาง ” หรือโรงหนังน่ำแซ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ อุบลภาพยนตร์ ” อยู่ถนนยุทธภัณฑ์ ปัจจุบันเป็นลานจอดรถยนต์หน้าโรงแรมนิวนครหลวง “ โรงหนังใต้ ” หรือ “ ใต้ฟ้าภาพยนตร์ ” อยู่ที่ถนนพรหมราชหน้าวัด กลางข้างถนนราชวงศ์ เมื่อมีงานเทศกาลต่างๆ ก็สร้างสนามมวยในบริเวณงานจนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2483 ได้สร้างสนามมวยแห่งแรกขึ้นที่ข้างศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ด้านทิศตะวันออกข้างถนนราชบุตรกรรมการห้ามมวย รุ่นแรกที่ชื่อเสียงในความแคล่วคล่อง ว่องไว เด็ดขาด ยุติธรรม เป็นที่ศรัทธาของประชาชนสมัยนั้นได้แก่ ครูชัย พรหมคุปต์ และสุวรรณ คูณพงศ์ ซึ่งเปิดครูโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชขณะนั้น (ต่อมาครูชัย พรหมคุปต์ ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์และอุบลราชธานี ครูสุวรรณ คูณพงศ์ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัดเลย) สนามมวยแห่งนี้ได้ไม่นานก็เลิกกิจการไป
          ทางด้านทุ่งศรีเมือง เมื่อหมดยุคสนามม้า ก็มาสู่ยุคสนามมวย ประมาณ พ.ศ. 2492 ผู้ร่วมหุ้นสนามม้าส่วนใหญ่ได้ร่วมกันจัดสร้างสนามมวยขึ้นที่กลางทุ่งศรีเมืองเป็นสนามสี่เหลี่ยมจัตุรัส สร้างด้วยไม้ทั้งหมด แม้กระทั่งฝารอบสนาม ด้านหน้าสนามมวย ด้านหน้าสนามมวยหันไปทางทิศใต้ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ด้านบน 2 ข้างขอบทาวเข้าสนามมวย มีภาพวาดสีน้ำมันนักมวยมีชื่อเสียงขนาดเท่าคนจริง 2 คน คือ ประยุทธ อุดมศักดิ์ (ม้าสีหมอก) กับอุสมาน ศรแดง (โอรสเจ้าอาหรับ) ฝีมือวาดของครุเจนศรีรัญรัตน์ “ จ.ศิลป์ ” นายสนามมวยแห่งนี้คือ นาย มลคง กรินชัย นายสนามม้าเดิม โฆษกสนามนายก ลิ่น ปลั่งนิล เสมียนมหาดไทยสมัยนั้น ต่อมาเป็นผู้แทนราษฎร โฆษกสนามมวยคนต่อมาคือนาย ไสว จังกาจิต ต่อมาเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาวารินชำราบ การรมการห้ามมวยได้แก่ ครูอรุณ มุขสมบัติ ครูพละโรงเรียนฝึกหัดครูชายรุ่นแรก ก่อนเกษียณอายุราชการดำรงตำแหนางอธิกาบดีวิทยาลัยครูมหาสารคาม และครูอุบลราชธานี ก่อนยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏ กรรมการห้ามมวยอีก 2 คน คือ ครูท่อน เจริญไชย ครูพละโรงเรียนสตรีฝึกหัดครู กับครูปทีปวรภัย ครูพละโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
          ค่ายมวยที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นได้แก่ ค่ายมวย “ ควรตั้ง ” ของครูกู้ ควรตั้ง อยู่ที่ท่าน้ำอุปราช ด้านตะวันตกจวนข้าหลวงประจำจังหวัด (ที่ตั้งตลาด 3 ริมแม่น้ำมูลปัจจุบัน) ครูกู้ ควรตั้ง ดังมากสมัยหนุ่ม เชิงมวยเป็นที่ประทับใจ “ กู้น้อย วิถีชัย ” จึงขอใช้ชื่อมวยตามครูกู้ ควรตั้ง ลูกศิษย์คนสำคัญของครูกู้ คือ “ สำรวย ธานี ” ตอนหัดมวยกับครูกู้ ยึดอาชีพแจวเรือจ้างระหว่างท่าจวนกับท่าหาดสวนยาวาริน ตอนหลังไปดังที่เวทีราชดำเนินและอีกหลายเวทีในนามนักมวย “ สมเดช ยนตรกิจ ” (หมัดซ้ายฟ้าผ่า) ปราบมวยรุ่นใหญ่แพ้น๊อกด้วยหมัดซ้ายเกือบทุกคน แพ้อยู่คนเดียวคือ “ สมศรี เทียมกำแหง ” นักมวยค่ายเดียวกัน “ เป็งสูน เทียมกำแหง ” นักมวยฝีมือดีอีกคนของอุบลฯ รุ่นเดียวกับ “ วรเทพ เลือดอุบล ” และ “ สีบัวแดง เลือดอุบล ” ซึ่งไปสร้างชื่อเสียงที่กรุงเทพฯ หลายปี เป็นที่รู้จักของแฟนมวยทั่วประเทศ
          อีกค่ายหนึ่งดังพอๆ กัน คือ “ ค่ายมวยศิลารักษ์ ” ส.ต.ท. เหมือน ศิลารักษ์ เป็นครูมวย ค่ายนี้อยู่ที่ข้างวัดสุทัศนาราม ตรงสามแยกถนนอุปราชบรรจบกับถนนพโลชัย นักมวยค่ายนี้ที่มีชื่อเสียงได้แก่ “ วิทยา (ศิลารักษ์) ราชวัตร) แชมเปี้ยนมวยไทยรุ่นแบนตั้มเวทแห่งประเทศไทย “ วิหก ศิลารักษ์ ” ชื่อจริง ไสว มุขสมบัติ ผู้จัดการธนาคารออมสินหลายสาขา เจ้าของฉายา “ อ้ายนกกระจิบน้อยเข่าลอยมหาโหด ” นอกจากนี้ก็มี “ เริงชัย ศิลารักษ์ ” ชื่อจริงรองศาสตราจารย์จรวย แก่นวงศ์คำ อาจารย์วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ผูที่ได้ชื่อว่าไหว้ครู รำมวยได้สวยที่สุด ครบท่ารำมวยไหว้ครูทุกกระบวนท่า เมื่อ พ.ศ. 2530 ได้รับเชิญไปโชว์การไหว้ครูรำมวยที่สนามมวยอ้อมน้อย และสนามมวยใหญ่หลายแห่ง โดยมี ไสว จังกาจิต (เพื่อนร่วมรุ่นเบ็ญจะมะ พ.ศ. 2487 รุ่นเดียวกับ เรือตรีดนัย เกตุศิริ อดีตผวจ.อบ.) เป็นผู้บรรยายการรำมวย มีเริงชัย ศิลารักษ์ แล้วก็มี “ เริงศักดิ์ ศิลารักษ์ ” (โต้ย หน้าวัดหลวง) เป็นมวยรองบ่อนประจำเวทีมวยทุ่งศรีเมืองยุคหลัง เป็นความหวังของทีมมวยอุบล เมื่อมีมวยต่างจังหวัดยกทีมมาราวี และเมื่อทีมมวยอุบลบุกต่างจังหวัดก็มีชัยกลับมาทุกครั้ง เป็นนักมวยแม่เหล็กคนหนึ่งที่มีลำโค่นโดดเด่นมาก
          เมื่อกล่าวถึงสนามมวย นักมวยก็ต้องมีนักดูมวยด้วยจึงจะครบเครื่องมวย นักดูมวยที่เป็นแฟนประจำทุกนัดสมัยนั้นได้แก่ นาย คูณ ณ อุบล บ้านอยู่ทางลงท่ากวางตุ้ง ด้านทิศตะวันออกวัดหลวง อาชีพทำปลาส้มทุกชนิด รสแซบมาก อีกคนหนึ่ง คือ นาย คูณ สมทัศน์ บ้านอยู่ถนนพรหมเทพ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือวัดหลวง อาชีพช่างตัดผม ตั้งร้านชื่อ “ ร้านตัดผมนาย คูณ สมทัศน์ ” เอกลักษณ์ของร้านคือ ใช้ผ้าใบผืนใหญ่เกือบเท่าแผ่นไม้อัด มีชายผ้าจีนแขวนบนเพดานเหนือเก้าอี้ตัดผม มีเชือกดึงให้ผ้าใบโบกไปมาเป็นการกระพือลมให้ลูกค้าตัดผมเย็นสบายแทนพัดลมแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะสมัยนั้นกลางวันไม่มีไฟฟ้าใช้ โรงไฟฟ้าปล่อยกระแสไฟเฉพาะกลางคืนเท่านั้น เป็นการประหยัดค่าไฟฟ้าอีกแบบหนึ่ง แต่ที่แปลกแต่จริงก็คือแฟนหมัดมวยชื่อคูณเหมือนกันนี้ มีวัยไล่เลี่ยกัน บ้านอยู่คุ้มวัดหลวงเหมือนกัน มีลูกชายเข้าเรียนเตรียมทหารรุ่นแรกเหมือนกัน ปัจจุบันลูกชายนาย คูณ ณ อุบล คือ พ.ต.อ. ธีระ ณ อุบล (ชื่อเล่นว่า “ หำทอง ” ) เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรสถานีอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ลูกชายนายคูณ สมทัศน์ คือ พลเอก บุญรอด สมทัศน์ ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารสูงสุด 1 ต.ค. นี้
          หมดยุคสนามมวยสี่เหลี่ยมกลางทุ่งศรีเมืองรื้อถอนไปแล้ว ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2496 มีการสร้างสนามมวยขึ้นใหม่ลักษณะแปดเหลี่ยมล้อมรั้วสังกะสี ที่ทุ่งศรีเมืองด้านทิศตะวันออกหันหน้ามาทางถนนราชบุตร (หน้าโรงเรียนอนุบาลปัจจุบัน) มีนาย ประสิทธิ พันธุ์รุ่งโรจน์ เจ้าของร้าน ส.ประสิทธิ เอเย่นต์หนังสือพิมพ์ เป็นนายสนามและหุ้นส่วนใหญ่ นาย ไสว จังกาจิต เป็นโฆษกสนาม กรรมการมีชุดเดิมหลายคน สนามมวยยุคนี้มีคู่มวยสำคัญที่แฟนมวยเข้าชมมากที่สุด ได้แก่ การชกมวยระหว่าง “ สีโบว์แดง ควรตั้ง ” กับ “ จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ” นักมวยชื่อดังที่สุดของไทย ขณะนั้น (ต่อมาเป็นผู้ท้าชิงแชมเปี้ยนโลกมวยสากลรุ่นแบนตั้มเวทคนแรกของไทยกับ “ จิมมี่ คารัทเธอร์ ” ชาวอเมริกัน ครั้งที่ 2 ชิงกับ “ โรเบิต โคเฮน ” ชาวฝรั่งเศส ผลการชกปรากฏว่า จำเริญแพ้ทั้ง 2 ครั้ง แต่มีกำลังใจในการต่อสู้ต่อไป) ผลการต่อสู้ดุเดือดตื่นเต้นตลอดเวลา เพราะสีโบว์แดง ควรตั้ง เป็นมวยฝีมือดีที่สุดของอุบลในขณะนั้นแต่กระดูกยังอ่อนกว่ากันหลายเบอร์ จึงได้ถูกน๊อกเอาท์ด้วย “ จระเข้ฟาดหาง ” ของจำเริญ ทรงกิตรัตน์ จนหมอบราบคาบแก้ว เก่งเล็กสู้เก่งใหญ่ไม่ได้ สนามมวยทุ่งศรีเมืองยุคหลังนี้ ประสบกับภาวะขาดทุนย่ำแย่ จึงยุบเลิกกิจการไปในที่สุด

แหล่งที่มา... http://guideubon.com/news/view.php?t=34&s_id=15&d_id=15

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การชกมวยชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่9

ประวัติค่ายมวยยนตรกิจ

ภาพการรวมตัวของนักมวยในค่ายมวยยนตรกิจ