ยางตัน-ทองใบ-ยนตรกิจ

ในฐานะนักมวยที่มีธาตุทรหด ออกอาวุธได้ดุดัน สะใจ ถูกใจแฟนมวยทั้งไทยและต่างประเทศ
แต่ก็ไม่มีใครเรียกขานยอดนักชกจากเมืองสุรินทร์ ว่าเป็น “ยอดมวยไทย”
เนื่องจากระยะหลัง สถานการณ์วงการมวยไทยเปลี่ยนไปจากเดิม การประชันฝีมือระหว่างสุดยอดมวยไทยด้วยกัน ไม่ค่อยเกิดขึ้น
เป็นไปในลักษณะ นักมวยไทย พิฆาต นักมวยต่างชาติเสียมากกว่า
แต่ในอดีต ถ้าหากจะเลือกนักมวยไทยสักคน ที่มีธาตุทรหด มีการชกที่ครบเครื่อง และมีวัตรปฎิบัติที่เยี่ยมยอด ชื่อหนึ่งที่จะถูกกล่าวขวัญถึงเสมอก็คือ
“ยางตัน” ทองใบ ยนตรกิจ
ทองใบ เป็นเจ้าของฉายา “ ยางตัน” ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคนเดียว จนทุกวันนี้ก็ไม่มีนักมวยคนใดได้ฉายา ยางตัน อีกเลย
ยางตัน เป็นคำเรียกยางรถจักรยานสองล้อ ซึ่งตามปกติแล้วจะมีสองชั้นคือยางนอกและยางใน แต่ถ้าจะให้เท่สุดต้องใช้ยางตัน ไม่มีแฟบไม่มียุบ ไม่ต้องสูบลม เหมือนล้อรถบด แสดงถึงความแกร่งลุยได้ทุกสภาพถนน ซึ่งบังเอิญตรงกับรูปร่างลักษณะของทองใบ ยนตรกิจ พอดี เขาจึงได้รับฉายาจากหนังสือพิมพ์หมัดมวยสมัยนั้นว่า นายยางตัน
ทองใบ ยนตรกิจ มีชื่อจริงว่า “ทองใบ  สนสร้อย” เกิดที่ ต.ลาดยาว อ.บางเขน กรุงเทพฯ เป็นศิษย์รุ่นแรกของบรมครู เตี่ยตันกี้  ยนตรกิจ  เริ่มหัดมวยตอนไปเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนวัดสะพานสูง  บางซื่อ และเริ่มทำงานที่ช่างแสงทหารบก สะพานบางซื่อ
ทองใบ ยนตรกิจ กับ เตี่ยตันกี้
ปี พ.ศ. 2487 กลับมาหัดมวยกับเตี่ยตันกี้อีก ตอนนั้นอายุได้ 18 ปีบริบูรณ์ ขึ้นชกมวยอาชีพหนแรกที่เวที่สวนเจ้าเชตุ ชนะคะแนน ทวิช  วงศ์เทเวศร์ ได้เงินรางวัลค่าเหนื่อย 20 บาท จากนั้นได้รับการคัดเลือกเข้าชกมวยรอบรุ่น 135 ปอนด์ ของเวทีสวนเจ้าเชตุ และกรุยทางจนได้ครอบครองเสื้อสามารถในที่สุด
และเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทองใบเตลิดตามเตี่ยตันกี้ ลงไปท่องอยู่แถบภาคใต้ ชกที่นั่นอีกหลายครั้งจนชื่อเสียงโด่งดัง หลังสงครามสงบเวทีราชดำเนินเปิดทำการแข่งขัน ทองใบกลับมาชกที่เมืองกรุงอีก และชนะเลิศในการแข่งขันมวยรุ่น “4 เสือลายพาดกลอน” โดยรอบชิงชนะเลิศชนะคะแนน “หมีดำ” เป็งสูน  เทียมกำแหง ได้ครองเสื้อสามารถ พร้อมกับได้รับเงินรางวัลอีก 5,500 บาท
มาระยะหลังๆ ร่างกายเริ่มโทรมถูก “ควายเปลี่ยว” เปลี่ยน กิ่งเพชร  ขวิดแพ้หมดทางสู้ ชิงแชมป์มวยสากลรุ่นไลท์เวทราชดำเนินแพ้คะแนน ออมทรัพย์  นฤภัย เสียใจวางนวมหยุดไปนาน แล้วกลับมาแพ้คะแนน “กระทิงดำ” พันธุ์ศักดิ์  วิถีชัย มวยรุ่นหลานเลยรู้ว่าสังขารตัวเองหมดสภาพแล้ว จึงได้เลิกราแขวนนวมไปขณะที่อายุได้ 35 ปี
ถึงแก่กรรมเมื่อ 8 พ.ย.2542 ในขณะมีอายุ 77 ปี
(ขอตัดข้อความบางส่วนไปเนื่องจากท่านได้เสียชีวิตไปแล้วไม่สามารถแก้ต่างได้ เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เสียชีวิตไป)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การชกมวยชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่9

ประวัติค่ายมวยยนตรกิจ

ภาพการรวมตัวของนักมวยในค่ายมวยยนตรกิจ